บดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) ๒ สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2

ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

ชาติกำเนิด
เป็นบุตรคนที่สี่ของเจ้าพระยาอภัยราชา(ปิ่น) กับท่านผู้หญิงฟัก บรรพบุรุษของท่านเป็นพราหมณ์ชื่อสิริวัฒนะรับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำแหน่งราปุโรหิต บิดาของท่านเป็นข้าหลวงเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเป็นสมเด็จเจ้าพระยาวังหน้าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิดวันพุธเดือนยี่ แรมห้าค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘ ตรงกับวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๑๘ ที่บ้านริมคลองรอบกรุงธนบุรีด้านตะวันออกซึ่งปัจจุบันเป็นเขตกรุงเทพมหานคร (คือบริเวณสะพานข้างโรงสีหน้ากระทรวงมหาดไทย)

การศึกษา
ได้รับการศึกษาตามแบบบุตรหลานขุนนางซึ่งสันนิษฐานว่าศึกษาอักษรสมัย ในสำนักพระวันรัตน์ (ทองอยู่)  วัดบางหว้าใหญ่เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บุคลิกลักษณะ ท่านเป็นผู้เข้มแข็ง เฉียบขาด อดทน เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี มีความละเอียดรอบคอบและเข้าใจบุคคลอื่น รู้เท่าทันเหตุการณ์ รับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยบิดาได้นำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นเสมอใจราช ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระพรหมสุรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจขวา เมื่อกลับจากรับราชการที่เมืองเขมรได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาราชโยธา และต่อมาได้เป็นพระยาเกษตรรักษา ว่าการกรมนา ฝ่ายพระราชวังบวร ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์โดยลำดับจาก พระยาราชสุภาวดี เป็น เจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก และเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชาสมุหนายก ในขณะที่ท่านมีอายุ ๕๓ ปี

ผลงาน

  1. ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทร์ พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๒
  2. สงครามระหว่างไทยกับญวน พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๐
  3. สงครามระหว่างไทยกับญวน พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๐

ในด้านการทูตและการเมือง
ท่านมีความสามารถในการเจรจาโต้ตอบเชิงการทูต ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำสงครามเพราะจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยไม่ต้องใช้กำลัง เช่นการเจรจาปล่อยญวนที่เมืองโพธิสัตว์ เจรจาปัญหาญวน เกลี้ยกล่อมเขมรและการแต่งตั้งพระองค์ด้วงไปปกครองเขมร

ในด้านเศรษฐกิจ
ท่านสามารถแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจแตกสลายของเขมรในช่วงการทำสงครามติดต่อกันถึง ๑๔ ปี  โดยการหาเสบียงอาหารให้เพื่อบรรเทาความขาดแคลน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ราษฎรทำนา ไม่ได้ผลก็กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระองค์ก็จะโปรดยกเว้นไม่เก็บค่านา แม้แต่การจัดหาตุ่มใส่น้ำให้เขมรที่เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ท่านก็ยังเอาใจใส่ไม่ละเลย
ในด้านรักษาความสงบเรียบร้อย
ท่านได้รับมอบหมายจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทำการดูแลเมืองเขมร ซ่อมแซมป้อมค่ายเมืองพระตะบอง สำหรับใช้เป็นฐานกำลังของไทยที่จะคุมเชิงและควบคุมเขมรในความสนับสนุนของพระองค์ด้วง กษัตริย์ของเขมรโดยเอาใจใส่ตรวจตราดูแลความมั่นคงและปลอดภัยให้และจัดการสร้างเมืองอุดงมีชัย มีการขุดคูเมืองเชิงเทินสร้างป้อมค่ายให้แข็งแรง ท่านนำนโยบายห้ามสูบฝิ่นซื้อขายฝิ่นไปใช้ในเขมรอันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาโจรผู้ร้าย ท่านจะกวดขันห้ามปรามเมื่อจับจะทำโทษอย่างหนัก ไม่เว้นแม้แต่บุตรของท่าน

อสัญกรรม
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๒ ด้วยโรคปัจจุบัน (อหิวาตกโรค) ที่บ้านริม คลองโอ่งอ่าง (บริเวณเชิงสะพานหันกับบ้านดอกไม้) รวมสิริอายุ ๗๒ ปี ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นสมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

อนุสรณ์สถาน
จากผลงานและคุณความดีที่ปรากฏต่อประเทศชาติ ทำให้อนุชนรุ่นหลังสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นเพื่อเคารพสักการะและระลึกถึงพระคุณของท่านหลายแห่ง ดังนี้

  1. เมืองอุดงมีชัย ประเทศเขมร
  2. วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม)
  3. วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ยโสธร
  4. ค่ายบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ อ.มะขาม จ.จันทบุรี
  5. ค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ ๑๒ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
  6. ค่ายบดินทรเดชา กรมทหารราบที่ ๑๖ อ.เมือง จ.ยโสธร
  7. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
  8. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒
  9. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา
  10. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔
  11. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี
  12. พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แขวงวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
  13. ฯลฯ